'คนโสด'ประชากรสายพันธุ์ใหม่ ทำไมถึงแต่งงานช้า?
สัปดาห์นี้ไปดูสังคมหนุ่มสาวกันว่า...ทำไมน้องไม่แต่งงาน จะอยู่อีกนานเท่าไหร่? ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนช่วงเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ มีเหตุผลอะไรที่แต่งงานช้า?
อาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.00 น.
ใกล้ถึง “วันตรุษจีน” และ “วันวาเลนไทน์” เข้ามาอีกแล้ว เหล่าบรรดาตี๋หมวยในประเทศจีนที่ยังโสดก็มีเรื่องให้ต้องเซ็งอีก เพราะเป็นธรรมดาว่าเมื่อถึง เทศกาลตรุษจีน หรือ “วันปีใหม่” ของคนจีนนั้น บรรดาคนในครอบครัวจีนก็ต้องพยายามที่จะต้องกลับไปบ้านเกิด พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูกปู่ย่าตายายและญาติมิตร ทั้งกินข้าวและไปไหว้ญาติผู้ใหญ่
แต่สิ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวที่ยังโสดต้องร้อนเนื้อร้อนใจ เพราะจะต้องพาแฟนหรือเพื่อนที่คบหาไปให้ที่บ้านดูว่าตนมีแฟนแล้ว จนถึงกับมี “การเช่าแฟน” ไปให้ที่บ้านดู เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกสอบถามซักฟอกกันต่างๆ นานา ไม่ว่าจะผ่านกรรมวิธีพ่อสื่อแม่สื่อ บริษัทหาคู่ก็แล้ว แต่หนุ่มสาวจำนวนมากก็ยังคงเป็นโสดกันมากมาย จนทำให้ปัจจุบันอายุที่เหมาะสมกับการแต่งงานนั้นเลื่อนออกไปค่อนข้างมาก
ทำไมคนจำนวนมากจึงแต่งงานช้า?? หรือกลายเป็นคนสายพันธุ์ใหม่ คือ “คนโสด” จนกลายเป็นประเด็นร้อนในช่วง “วันตรุษจีน” และ “วันวาเลนไทน์” ซึ่งมีแหล่งข่าวหนึ่งใน เจียงซู รายงานว่า อายุเฉลี่ยของการแต่งงานในปี 2017 อยู่ที่ 34.2 โดยที่ผู้หญิงเฉลี่ยที่อายุ 34.3 ปี ชายเฉลี่ยที่อายุ 34.1 ปี ในขณะที่ย้อนไปในปี 1012 อายุการแต่งงานเฉลี่ยอยู่ที่ 29.6 ปี
ไม่เฉพาะที่ มณฑลเจียงซู เท่านั้น แม้แต่ เซี่ยงไฮ้ หรือ กวางตุ้ง ต่างก็ออกมาพูดถึงสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งนอกจากอายุเฉลี่ยที่แต่งงานจะเลื่อนออกไปมากแล้ว อัตราการแต่งงานที่ภาครัฐรายงานออกมาก็ลดลงอย่างน่าตกใจ จากตัวเลขที่รายงานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนสมรสนั้นพบว่า ในปี 2016 ตัวเลขการจดทะเบียนอยู่ที่ 11,428,000 คู่เท่านั้น ลดลงจากปีก่อนถึงร้อยละ 6.7
ไม่ใช่ว่าเหล่าบรรดาหนุ่มและสาวโสดจะไม่สนใจ บ้างก็บอกว่าตนเพิ่งจะหางานได้ ยังไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ยังไม่พร้อมแต่ง บ้างก็บอกว่าพยายามหาแล้ว ไม่ว่าจะผ่านการดูตัว แนะนำจากพ่อสื่อแม่สื่อ จากบริษัทจัดหาคู่ก็แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คนที่เหมาะสมเสียที ในขณะที่ด้านพ่อแม่ก็อยากจะอุ้มหลาน อยากที่จะให้ลูกแต่งงานมีลูกกันเสียที แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้ดังใจเสียที
แม้ว่าพยายามกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะภาครัฐที่พยายามออกมารณรงค์ให้คนแต่งงาน มีลูกมากกว่า 1 คน ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหา “การแต่งงานช้า” ได้ และการแต่งงานช้านั้นก็นำมาซึ่งการกระทบต่อสังคมระยะยาว เพราะจีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังเข้าสู่ “ประชากรผู้สูงวัย” เช่นเดียวกัน
โดยเกณฑ์ที่เหมาะสมของการแต่งงานนั้นก็น่าจะเป็นช่วงอายุ 20 กว่า และมีการวิจัยออกมาว่าอายุที่เหมาะสมสำหรับหญิงในการตั้งครรภ์ คือ 23 ปี แต่อย่าว่าถึงตั้งครรภ์เลย แค่จะมีแฟนยังยากเลย สำหรับสังคมสมัยนี้ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่เต็มไปด้วยแรงกดดันของการทำงาน คนทำงานกันจนไม่มีเวลาแม้แต่คบแฟน ดูตัว หรือมีเวลาส่วนตัว
ปัจจุบันคนจีนนิยมซื้อของออนไลน์เพราะว่าไม่มีเวลา และสะดวกรวดเร็วจนทำให้ “ธุรกิจออนไลน์” ของจีนสามารถสร้างรายได้มหาศาล ในขณะที่ภาครัฐก็พยายามออกมาตรการมาสนับสนุนการแต่งงาน การลดหย่อนภาษี การอนุญาตให้มีบุตรคนที่ 2 ที่ได้ดำเนินมาเป็นเวลา 2ปีแล้วก็ตาม นโยบายก็ยังคงเป็นการช่วยสนับสนุน หากแต่คนที่ยังต้องอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความกดดันในทุกด้าน ไม่ว่าจะการทำงาน สังคม ชีวิต ฯลฯ
จนทำให้คนจีนจำนวนมากออกมาพูดว่า “กดดันราวภูเขาไท่ซัน” จน “วันตรุษจีน” ก็ไม่กล้ากลับไปเจอหน้าพ่อแม่ บ้างก็ว่าราคาบ้านแพงขนาดนี้ ซื้อไม่ไหว บ้านยังไม่มี จะมีหน้าไปแต่งงานได้ยังไง ข้างฝ่ายหญิงก็ออกมาพูดว่าทุกวันนี้ผู้หญิงก็ต้องทำงาน แต่งงานแล้วยังคงต้องทำงานเลี้ยงตนเอง แถมด้วยงานดูแลสามีและลูกเพิ่มขึ้นมาอีก เหนื่อยตายเลย!!
คนสมัยนี้กว่าจะเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ราว 22-23 ปี ยังไม่ได้ต่อปริญญาโท ต่อปริญญเอกเลย กว่าจะตั้งตัวได้ก็ราว 30 กว่า แต่กว่าจะซื้อบ้านได้ก็คงอีกหลายปี จะให้คิดแต่งงานมีลูกอีก กดดันหลายด้าน ราวกับเปิดศึกทุกด้านเลย เอาเป็นว่า “หนีจากความจริงไปก่อน” ไม่ต้องกลับบ้านตอนตรุษจีนละกัน...
ย้อนมาดู “สังคมไทย” บ้านเรานั้นชิลล์กันไปไหน...ไม่เห็นต้องสนใจเลย...อยากแต่งก็แต่ง...ไม่อยากแต่งก็ไม่ต้องแต่ง แถมหนำซ้ำยังท้องกันตั้งแต่วันรุ่นกันมากมาย ใครว่ามีลูกไม่ทันใช้ ส่วนพวกบรรดาคิดมากเลือกมาก ก็รอมารักษามีบุตรยากกันเต็มโรงพยาบาล
...ไม่เครียดเลยค่ะ...แถม “สังคมไทย” ยังให้อิสระคนมากมาย จะรักจะชอบแบบไหนมีทุกรูปแบบ จนคนจีนงงว่า... “ไทยเราจะชิลล์ไปไหน?”
…........................................
คอลัมน์ : ฝ่ากำแพงเมืองจีน
โดย “อ.ดร.ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี”
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์... อ่านต่อที่ : |